"น้อมรำลึกครบรอบ ๙๓ ปีแห่งชาตกาลในหลวงพ่อสมเด็จ ฯ"
ทำกับฉัน เหมือนว่าฉันนั้นยังอยู่
วันนี้ วันที่ ๑๔ มิถุนายน เมื่อปี ๒๔๖๙
เป็นวันที่เด็กชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดเพื่อเป็นผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้เสียสละ และบำเพ็ญคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และสถาบัน
เด็กชายคนนี้ ซึ่งต่อมามีชื่อว่า "ประจวบ" ได้ถือกำเนิดในตระกูล "เนียมหอม" ณ หมู่บ้านโรงจีน อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี
ตระกูลของเด็กชายคนนี้ เป็นตระกูลธรรมดา มิได้ร่ำรวย ไม่ต่างจากตระกูลส่วนใหญ่ในประเทศ
เช่นเด็กทั้งหลายทั่ว ๆ ไป หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่อายุ ๑๐ ขวบแล้ว
เพื่อแสวงหาโอกาสในการศึกษา และเพื่ออนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น
"เด็กชายประจวบ เนียมหอม" ได้บรรพชาเป็นสามเณร ขณะมีอายุได้ ๑๒ ปี เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ วัดเหนือบางแพ ซึ่งเป็นวัดประจำบ้านเกิด
ครั้นอายุได้ ๑๔ ปี ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๓ พระครูวิบูลธรรมคุต (พ.ท.วิบูล สิริสุภาส) จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ได้พา "สามเณรประจวบ เนียมหอม" ไปฝากตัวกับพระเทพเวที (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
ซึ่งต่อมา ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เพื่อจำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัย พระบาลี และความรู้ทางโลก
ครั้นอายุได้ ๒๑ ปี "สามเณรประจวบ เนียมหอม เปรียญ" ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๘๙ โดยมีพระธรรมปาโมกข์ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์
ได้นามฉายาว่า "กนฺตาจาโร"
"พระมหาประจวบ กนฺตาจาโร" เป็นนักการศึกษา ตั้งแต่กำเนิด
ได้ฝักใฝ่ในการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม จนประสบความสำเร็จอย่างดี
โดยสำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๕ ประโยค ปริญญาตรี ศาสนศาสตรบัณฑิต จากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาบัณฑิต (ปริญญาโท) สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย
และแม้หลังจากได้เป็นพระราชาคณะแล้ว ได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิต (ปรัชญา) จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ในประเทศอินเดีย
"พระมหาประจวบ กนฺตาจาโร" ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และการศึกษาของคณะสงฆ์ จนเป็นที่ประจักษ์ชัด
"พระมหาประจวบ กนฺตาจาโร" ได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ตามปีพุทธศักราช โดยลำดับ ดังนี้:
พระกิตติสารมุนี (๒๕๐๕)
พระราชกวี (๒๕๑๕)
พระเทพโมลี (๒๕๑๗)
พระธรรมธัชมุนี (๒๕๒๘)
พระธรรมปัญญาจารย์ (๒๕๓๖)
และ
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (๒๕๔๓)
ด้านการปกครองของคณะสงฆ์ ได้รับภารธุระตามบัญชาของคณะสงฆ์เป็นอเนกอนันต์ อาทิ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต กรรมการในคณะกรรมการผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
ด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี (เดิมเรียก เลขาธิการ) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (เดิมชื่อ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย)
อีกทั้ง เพื่อเผยแผ่พระสัทธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ได้ก่อตั้งวัดญาณรังษี ที่สหรัฐอเมริกา และวัดมกุฏคีรีวัน ที่เขาใหญ่ นครราชสีมา
และ
ที่สำคัญคือ เป็นผู้ร่วมสืบพระปณิธานในสมเด็จพระสังฆราช ฯ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์
โดยการก่อตั้ง "มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย" เพื่อรับสามเณรและเด็ก ๆ จากทั่วประเทศเข้ารับการศึกษาพระปริยัติธรรมสายสามัญ บาลี และนักธรรม ตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ สืบมา
โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการและผู้จัดการในลำดับมา
พระภิกษุสามเณร ได้รับการดูแลอย่างดียิ่ง ทั้งด้านการศึกษา การเป็นอยู่ และอื่น ๆ เป็นความเมตตาอันไม่มีประมาณ
แม้มิใช่ "ผู้ให้กำเนิด" แต่เป็น "ผู้ให้การศึกษา ให้ปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม ให้อนาคตที่สดใส"
พระภิกษุสามเณร ต่างพร้อมใจเรียกว่า "พ่อ" ด้วยความเคารพ เทิดทูน และสำนึกในเมตตา
เพื่อลูก ๆ ได้อยู่สุขสบายตลอดไป ไม่ติดขัด ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล "พ่อ" ได้ก่อตั้งมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อนำดอกผลมาใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา และอื่น ๆ และเป็นกรรมการมูลนิธิสิรินธร ที่ดูแลด้านการรักษาพยาบาลสำหรับลูก ๆ
"พ่อ" ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ลูก ๆ มีการศึกษาที่ดี อยู่ดี กินดี เป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีมีคุณภาพ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดการศึกษา จวบจนวาระสุดท้าย
"พ่อ" ทำให้ลูก ๆ โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่เคยบ่น ไม่เคยเรียกร้องหรือทวงบุญคุณ แต่ประการใด
"พ่อ" ตื่นแต่เช้า เพื่อทำงานต่าง ๆ สนองคณะสงฆ์ ก่อนไปที่ มมร. และรีบไปที่ ม.ว.ก. และวัดมกุฏคีรีวัน ซึ่งพ่ออยู่ตลอดทั้งวัน
"พ่อ" กลับถึงวัดดึกดื่น พร้อมด้วยผักผลไม้ ข้าวสาร อาหารแห้ง ที่พ่อได้มา เพื่อเตรียมให้ลูก ๆ ที่วังน้อย
ในขณะที่ลูก ๆ นอนหลับสบาย ตั้งแต่หัวค่ำ
หลายครั้ง
"พ่อ" แม้เป็นพระราชาคณะแล้ว ต้องฉันมาม่า เพราะต้องการเก็บอาหารดี ๆ ที่ได้มาให้แก่ลูก ๆ ตามที่ตั้งใจไว้
"พ่อ" ทำงานหนักมาก จนสังขารร่วงโรยและทรุดลง ตามกาล
"พ่อ" ไม่สบายมากด้วยโรคไตเรื้อรัง ปอดอักเสบ หลอดเลือดหัวใจตีบ และเบาหวาน
แต่ "พ่อ" ไม่เคยหยุดทำเพื่อลูก ๆ และพระศาสนา
"พ่อ" ต้องพกยาติดตัวตลอดเวลา
หลายครั้ง โดยทันทีหลังฟอกไต "พ่อ" ต้องไปร่วมประชุมที่สหประชาชาติ ร่วมงานที่ มมร. และรีบบึ่งไปวังน้อย บ้านของพ่อ ที่มีลูก ๆ อยู่
คงมีน้อยคนนัก ที่จะรู้ว่า "พ่อ" เหนื่อย เจ็บปวด ทรมานแทบขาดใจ เพราะพ่อยิ้มแย้ม มีอารมณ์ขัน ทักทายลูก ๆ โดยไม่เคยบ่น หรือแสดงอาการให้เห็น พ่อติดดินเสมอ
จนวาระสุดท้าย
"พ่อ" ได้ละสังขาร จากลูก ๆ ไปโดยไม่มีวันหวนกลับ
เนื่องจากปอดติดเชื้ออย่างรุนแรงและลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด
"พ่อ" ได้สละร่างกาย หลังจากที่ใช้อย่างหนักเพื่อบำเพ็ญคุณประโชน์แก่ประเทศชาติ พระศาสนา พุทธศาสนิกชน และลูก ๆ ที่ "พ่อ" รักมากที่สุด
วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ ณ ตึกอัษฎางค์ รพ.ศิริราช
สิริอายุ ๘๑ ปี ๖ เดือน ๖๑ พรรษา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) เสด็จ ฯ สรงน้ำหลวงพระราชทานในวันรุ่งขึ้น และ ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
"พ่อ" จากไปแล้ว
แต่จากเพียงกายเท่านั้น เพราะ "พ่อ" ยังสถิตอยู่ในหัวใจของลูก ๆ เสมอ และจะดำรงอยู่เช่นนี้ ตลอดไป
"พ่อ" เป็น "อมตะ" เสมอ
ลูก ๆ ขอน้อมกราบแทบเท้าของ "พ่อ" ด้วยความเคารพสุดหัวใจ และด้วยรำลึกในพระเมตตาคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ "พ่อ" ได้ทำและมอบให้แก่ลูก ๆ
ลูก ๆ คือต้นไม้ของ "พ่อ" ที่ได้ปลูก ทนุถนอมดูแล รักษาเป็นอย่างดี
บัดนี้ ต้นไม้ของพ่อ ออกดอก ออกผล ให้พ่อได้ชื่นชมแล้ว
ลูก ๆ จะรัก เทิดทูน และเคารพ "พ่อ" สุดหัวใจ ตลอดไป ครับ.
วิริยะ ขันติ สัจจะ กตัญญู
สมาคมศิษย์เก่ามหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
วันศุกร์ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
(ขอบคุณภาพวาด : คุณวีรศักดิ์ ศรีโทมี