ซอฟต์แวร์ DSpace คลังสมองการจัดการความรู้
ผศ.สุพล พรหมมาพันธุ์
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2560 เวลา 09.30-12.00 น. ที่ผ่านมา ผมได้เข้ารับการอบรมความรู้เรื่อง “DSpace Digital Repository System” หรือ ระบบเก็บข้อมูลดิจิทัลโดยใช้ซอฟต์แวร์ DSpace วิทยากร คือ Ms.Neelawat Intaraksa Senior Information Officer at Punsarn Asia Co.,Ltd. ซึ่งจัดโดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยศรีปทุม ณ ห้อง 11-1210 อาคาร 40ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซอฟต์แวร์ DSpace ที่ใช้ในการอบรมครั้งนี้ เป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด คือ DSapce Version 5.5 ซอฟต์แวร์ DSpace คือ ซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับการจัดการความรู้ (Knowledge Management System: KM) หรืออาจจะเรียกว่า “DSpace คลังสมองการจัดการความรู้” ก็ได้ พัฒนาขึ้นโดยสถาบันเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology: MIT) และ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด จำกัด (HP) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.2000 เป็นซอฟต์แวร์ระบบเปิดเผยรหัสการเขียนโปรแกรม (Open Source) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ไม่มีลิขสิทธิ์ และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ฝช้ที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา องค์กร บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลความรู้ขององค์กรเอาไว้ในระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางด้านวิชาการ หรือความรู้ทางด้านธุรกิจ ที่เรียกว่า “คลังความรู้ของสถาบัน (Institutional Repository: IR)” โดยสามารถใส่เนื้อหาลงไปได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และเสียง สามารถสร้างเป็นชุมชนของตนเองได้ ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ DSpace จะต้องลงทะเบียนด้วย e-Mail Address และรอทางระบบซอฟต์แวร์ส่งข้อมูลกลับมาผ่านทางอีเมล และเข้าไปทำการกำหนด Password ด้วยตนเอง และทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ DSpace พร้อมทั้งมีการกำหนดค่า SMTP (เอสเอ็มทีพี คือ โปรโตคอล ซึ่งใช้ในการรับส่งอีเมลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ให้ทำงานก่อน
ความจริงเรื่องของการจัดการความรู้นี้มีมานานแล้ว ก่อนหน้านี้เราคงได้ยินคำว่า Wiki ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นเว็บเกี่ยวกับความรู้ หรือสารานุกรม เช่น เว็บไซต์ Wikipedia.org เว็บสารานุกรมเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี คำว่า Wiki คือ เครื่องมือสำหรับการพัฒนางานบนเว็บไซต์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสร้าง ลบ และเปลี่ยนแปลง แก้ไขเนื้อหาบนระบบออนไลน์ได้เองโดยผ่านเว็บบราวเซอร์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง Wiki ได้แก่ประเภทของซอฟต์แวร์สำหรับใช้ในการทำงานร่วมกันผ่านเว็บไซต์ อาจใช้เพื่อสร้างชุมชนบนเว็บไซต์ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น, ใช้เพื่อเขียนบันทึกเรื่องราวส่วนบุคคล, ใช้เพื่อสนับสนุนพนักงานบนเครือข่ายภายในองค์กร ใช้เพื่อสนับสนุนกลุ่มการเรียนรู้ในสถานศึกษา และจนกระทั่งถึงระบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ทั้งภายในองค์กร และระหว่างองค์กร Wiki เป็นการใช้ภาษาที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้นที่เรียกว่า WYSIWYG (What You See Is What You Get) เพื่อให้ผู้ใช้งานง่ายต่อการทำการแก้ไข นั่นหมายถึงมีการใช้ภาษา JavaScript หรือ ActiveX เพื่อทำการควบคุมและการแปลรูปแบบของคำสั่งกราฟิกส์ที่ป้อนเข้าไป เช่น การทำให้เป็น ตัวหนา (Bold) และ ตัวเอียง (Italics) เป็นต้น
เว็บไซต์ Wiki เว็บแรกของโลกคือ WikiWikiWeb พัฒนาขึ้นมาโดยโปรแกรมเมอร์ชาวอเมริกันชื่อ วาร์ด คันนิงแฮม (Ward Cunningham) พัฒนาขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ.1994 และได้ทำการติดตั้งลงบนอินเทอร์เน็ตโดเมนเนมชื่อ c2.com เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1995 ชื่อ Wiki เป็นชื่อที่ตั้งโดยนายวาร์ด คันนิงแฮม เพื่อเป็นการระลึกถึงพนักงานซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นับ (Counter Employee) คนหนึ่งซึ่งประจำการอยู่ที่ สนามบินนานาชาติ Honolulu โดยเขาเป็นผู้บอกแนะนำให้ วาร์ด คันนิงแฮม ขึ้นรถโดยสารสาธารณะที่เรียกว่า “Wiki” ซึ่งวิ่งไปมาระหว่างสถานีต่างๆ ภายในสนามบิน
คราวนี้ลองมาดูวัตถุประสงค์ของการใช้ซอฟต์แวร์ DSpace ที่กล่าวถึงในเบื้องต้นนี้กันบ้างที่สำคัญนั้นได้แก่ (1) เพื่อรวบรวมผลงานทั้งหมดที่สถาบันผลิตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงาน ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา บทความ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ทำการจัดเก็บเอาไว้ในรูปแบบดิจิทัล (2) เพื่อรวบรวมบริหารจัดการ เผยแพร่ ผลงานทั้งภายในและภายนอกสถาบัน (3) เพื่อเป็นการเก็บรักษาคลังความรู้เหล่านี้เอาไว้ในระยะยาว บางแห่งอาจใช้เก็บผลงานของนักศึกษาได้ด้วย และ (4) เพื่อเป็นพันธสัญญาระดับสถาบัน เช่น ถ้าหากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ อย่างน้อย 1 ชิ้น ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ไม่สามารถใส่ชื่อเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้ เป็นต้น ส่วนลักษณะเด่นสำคัญของซอฟต์แวร์ DSpace คือ (1) รองรับเนื้อหาดิจิทัลทั้งที่เป็นเอกสาร รูปภาพ วิดีโอ และเสียง เป็นต้น (2) รองรับการใส่เนื้อหาในหลายระดับทั้งที่เป็นกลุ่ม, ชุมชน, ชุมชนย่อย (3) มีตัวแบบความรับผิดชอบของผู้เผยแพร่ เช่น ผู้ส่ง, ผู้ตรวจสอบ, ผู้รวบรวม / ผู้ดูแลชุมชน (4) มีระบบสนับสนุนการไหลเวียนของเอกสาร เช่น บทความ ต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ตรวจ หรือผู้มีอำนาจ (5) สามารถจัดการและรักษาเนื้อหาดิจิทัลทุกชนิด (6). ง่ายต่อการใช้งาน (7) รองรับการเก็บข้อมูลเมตะดาต้าหรือข้อมูลอภิพันธุ์ (Metadata) หมายถึง ข้อมูลที่ใช้กำกับและอธิบายข้อมูลหลักหรือกลุ่มของข้อมูลอื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บัตรในห้องสมุดสำหรับสืบค้นหนังสือ (8) มาตรฐาน (9) ใช้ได้หลายภาษา (10) รองรับการใช้งานบนเว็บไซต์ (11) สามารถปรับขนาดได้ และ (12) สามารถค้นหาและเรียกดูได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบเปิดอีกด้วย
ส่วนสถิติสำหรับองค์กรและหน่วยงานที่ใช้ซอฟต์แวร์ DSpace ทั่วโลก มีจำนวนถึง 1,673 แห่ง คิดเป็นประมาณ 40% ในจำนวนนี้มีสถาบันดังระดับโลกใช้อยู่หลายแห่ง เช่น World Bank และ UNESCO นอกจากนั้นก็มีใช้ซอฟต์แวร์ชนิดอื่นๆ เช่น ใช้ซอฟต์แวร์ EPrints จำนวน 601 แห่ง, Bepress จำนวน 395 แห่ง, OPUS จำนวน 85 แห่ง, Fedora จำนวน 51 แห่ง และใช้ซอฟต์แวร์อื่นๆ จำนวน 1,473 แห่ง ในส่วนของประเทศไทยมีสถาบัน และมหาวิทยาลัยหลายแห่งนิยมใช้ เช่น มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งมหาวิทยาลัยศรีปทุมนี้ ได้ใช้ซอฟต์แวร์ DSpace นี้มาตั้งแต่ในยุคแรกๆ คือตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ในนาม Knowledge Bank at Sripatum University หรือ Knowledge Bank @SPU http://dspace.spu.ac.th/ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเข้าไปใช้อีกหลายแห่ง เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ เป็นต้น ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ DSpace ดำเนินการโดยมูลนิธิ DuraSpace Foundation and Global DSpace Community เปิดรับบริจาคสำหรับผู้มีจิตศรัทธา
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่สถาบันที่เข้าไปใช้ซอฟต์แวร์ DSpace มักจะเป็นองค์กรทางด้านการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย เพราะว่าปัจจุบัน มีแนวโน้มการจัดอันดับมหาวิทยาลัยมีมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาคือ ผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการที่ตีพิมพ์เผยแพร่ของอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งจัดโดย Webometrics Ranking อันมีผลต่อการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย ซอฟต์แวร์ DSpace เป็นซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะสามารถทำให้ติดอันดับการค้นหาใน Google และ Webometrics ได้.